กระดูก - ไขข้อ - กล้ามเนื้อ ดูแลการเคลื่อนไหวในผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้น สัญญาณกระดูก ข้อต่อต่างๆ ก็เริ่มจะถามหา เริ่มเดินมีเสียงที่เข่า เจ็บแปลบ หรือปวดเอว ปวดหลัง สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ควรดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะสุขภาพของคุณใน 10 ปีข้างหน้า เริ่มต้นที่การดูแลทุกวันอย่างถูกวิธีตั้งแต่วันนี้
คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจเพียงแค่ การดูแลการเคลื่อนไหวคือการดูแลกระดูก จึงเสริมเพียงแคลเซียมเป็นหลัก ทั้งๆที่จริงๆแล้วการเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นการทำงานของ 3 ส่วนร่วมกัน คือ กล้ามเนื้อ กระดูก และ ข้อต่อ จึงควรดูแลให้ครบทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรง มีการเคลื่อนไหวที่ดีและสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ โดยต้องดูแลตั้งแต่เรื่องพื้นฐานคือโภชนาการที่ดี ควบคู่กับการออกกำลังกาย
เพราะหากปล่อยไว้นานๆ เมื่อสูงวัยกว่านี้และเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงสำคัญต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ เช่นโรคหัวใจ โรคเบาหวานเป็นต้น ในทางตรงกันข้าม หากดูแลให้ดี จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากโรคได้
โภชนาการสำหรับกระดูกที่แข็งแรง
กระดูกเป็นโครงสร้างที่ให้ความแข็งแรง ทำให้เราทรงตัว และเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง กระดูกของคนเราจะเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่อายุประมาณ 45 ปี โดยการสลายกระดูกจะเร็วกว่าการซ่อมแซม ทำให้เราเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างต่อเนื่อง จนอาจเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ เราจึงจำเป็นต้องกินสารอาหารที่บำรุงกระดูกให้เพียงพอ ส่วนใหญ่เมื่อพูดถึงกระดูก เรามักจะนึกถึงแต่แคลเซียม แต่จริงๆได้ สารอาหารที่สำคัญต่อกระดูกมีหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินดี ที่มีผลงานวิจัยพบว่า เมืองไทยแม้แดดแรง แต่มักอยู่แต่ในร่ม จึงไม่มีการขาดวิตามินดีโดยไม่รู้ตัว เราจึงควรเสริมวิตามินดีและแคลเซียมไปพร้อมๆกันทุกครั้งที่เลือกอาหาร
สารอาหารที่สำคัญต่อสุขภาพกระดูก
สารอาหาร |
ปริมาณที่ต้องการสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ต่อวัน |
หน้าที่ของสารอาหาร |
แหล่งที่ดีของสารอาหาร |
แคลเซียม |
800-1000
mg |
เป็นโครงสร้างหลักของกระดูก สำคัญต่อระบบการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ |
นมและผลิตภัณฑ์จากนม ปลาเล็กปลาน้อย ปลากระป๋อง กะปิ กุ้งแห้ง เต้าหู้อ่อน ผักคะน้า บร็อคโคลี่ งาดำ |
วิตามินดี |
800 –
1000 IU |
ช่วยการดูดซึมแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย (หากได้รับแต่แคเซียม
แต่ขาดวิตามินดี ก็จะทำให้ร่างกายดูดซึมไปใช้งานได้ไม่ดีเท่าที่ควร) |
จากอาหาร เช่น นม ปลาทะเล ที่มีไขมันสูงเช่น แซลมอน
จากแสงแดด ร่างกายคนเราสังเคราะห์วิตามินดีได้ โดยการที่แสง UV ช่วงเวลาที่ปลอดภัยคือ 8.00-9.00 *ครีมกันแดดเป็นตัวขัดขวางการสังเคราะห์วิตามินดี* |
แมกนีเซียม |
350 mg |
เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างกระดูก |
ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดต่างๆ ธัญพืชไม่ขัดสี ปลา |
ซิงค์ |
15
mg |
จำเป็นสำหรับกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อ และ โครงสร้างกระดูก |
เนื้อสัตว์ ประเภทเนื้อแดง ไก่ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดต่างๆ |
โภชนาการสำหรับสุขภาพไขข้อ
อาการข้ออักเสบหรือข้อเสื่อมพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทำให้การเคลื่อนไหวลำบาก เพราะรู้สึกเจ็บหรือขัดที่ข้อเวลาเดิน ลุกนั่ง หรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวข้อ สาเหตุเกิดจากการเสื่อมและบางลงของกระดูกอ่อนระหว่างข้อ (cartilage) ตามอายุ ทำให้กระดูกข้อเกิดการเสียดสี หรือ กดทับกันระหว่างเคลื่อนไหว โภชนาการสำหรับการดูแลข้อเพื่อลดการอักเสบ ได้แก่ โอเมก้า 3 และ วิตามินดี ซึ่งพบได้ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น แซลมอน ซาดีน น้ำมันและถั่วที่ให้ไขมันชนิดโอเมก้า 3 เช่น น้ำมันคาโนล่า ถั่ววอลนัท เจียซีด เป็นต้น
โภชนาการสำหรับกล้ามเนื้อที่แข็งแรง
กล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับสุขภาพการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและต้นขา จะช่วยพยุงกระดูกที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและลดความเสี่ยงต่อการล้มได้ การนั่งหรือนอนนานๆในชีวิตประจำวัน จะทำให้เสี่ยงต่อการล้ม กระดูกสะโพกหัก ซึ่งพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งนำไปสู่คุณภาพชีวิตและสุขภาพที่แย่ลดอย่างรวดเร็ว
วงจรกล้ามเนื้อคล้ายกับกระดูก คือมีการสร้างสูงในวัยเด็ก และเมื่อถึงวัยสูงอายุกระบวนการสลายจะสูงกว่าสร้างและซ่อมแซม กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ กล้ามเนื้อลีบ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับผู้สูงอายุทุกคน อย่างไรก็ตามเราสามารถชะลอการเสื่อมลงของกล้ามเนื้อได้ โดยการกินอาหารที่ถูกต้อง และมีการออกกำลังกายที่เหมาะสมควบคู่กันไปด้วย
อาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ คือ โปรตีน โดยผู้สูงอายุจะมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าวัยทำงาน คือ ต้องการโปรตีน 1-1.5 g/ น้ำหนักตัว 1 kg คุณภาพของโปรตีนที่รับประทานก็มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อประสิทธิภาพการสร้างกล้ามเนื้อ โดยโปรตีนที่มีกรดอะมิโนชนิด Branch chain amino acid (BCAA) จะมีประสิทธิภาพสูงที่สุด เนื่องจากเป็นชนิดที่ร่างกายนำไปสังเคราะห์เป็นกล้ามเนื้อของร่างกายโดยเฉพาะนั่นเอง แหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโน BCAA สูงได้แก่ ไข่ เนื้อสัตว์ โปรตีนเวย์จากนม ส่วนโปรตีนจากพืชชนิดที่เป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน ได้แก่ ถั่วเหลือง ก็แต่การดูดซึมและนำโปรตีนจากพืชไปใช้มีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า และมีสัดส่วนกรดอะมิโน BCAA น้อยกว่า
โดยสรุปการดูแลตนเองให้ห่างไกลปัญหาการเคลื่อนไหว
1.ดูแลเรื่องโภชนาการ ให้รับประทานอาหารได้ครบถ้วน และตามความต้องการของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และเสริมอาหารที่ให้โภชนาการครบถ้วนสำหรับผู้สูงอายุเป็นประจำ หากไม่สามารถรับประทานอาหารได้ครบ
2. รับแสงแดดยามเช้า ช่วง 8.00-9.00 น. เพื่อให้ได้วิตามินดี
3. ออกกำลังวันละ 30 นาที เป็นประจำ โดยให้มีการออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงต้าน เช่นการยกน้ำหนักเบาๆ หรือการเดินขึ้นเนิน การรำไทเก๊ก ควบคู่กับการออกกำลังกายแบบแอโรบิคเช่นเดิน วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน หรือการทำกิจกรรมบางอย่างเช่น การทำงานบ้าน การทำสวน ที่ได้การออกกำลังกายทั้งสองแบบไปพร้อมๆกัน จะช่วยให้มีการสร้างกล้ามเนื้อร่างกายและทำให้การทำงานของหัวใจแข็งแรงไปคู่กัน อ้างอิง